เมื่อเวลา 10.20 น.วันที่ 1 เมษายน 2568 นายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ พร้อมทีมอาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิ ร่วมกตัญญู เดินทางลงพื้นที่มายังบริเวณจุดเกิดเหตุอาคาร สตง. ถล่มเปิดเผยว่า เมื่อช่วงคืนที่ผ่านมา (31 มีนาคม)เจ้าหน้าที่ได้ใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง ในการประชุมวางแผนการทำงาน และเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ที่ติดค้างภายในอาคารเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการใช้เครื่องมือหนัก ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเข้าไปยังจุดที่สันนิษฐานว่าอาจจะพบผู้ติดค้างอยู่
โดยหากในช่วงเช้าที่ผ่านมาไม่สามารถที่จะดำเนินการนำซากปรักหักพังยกขึ้นมา ได้ก็ยังคงจะต้องกลับมาใช้เครื่องมือหนักดำเนินการต่อ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเข้าไปตรงจุดที่เครื่องสแกนตรวจพบสัญญาณชีพและไม่พบผู้เสียชีวิต ที่กระจายอยู่บริเวณรอบข้างแล้วคาดว่าน่าจะมีผู้ติดค้าง รวมกระจุกตัวอยู่บริเวณตรงส่วนกลางของตึก ระหว่างชั้นที่ 17-21 เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการทำงานกัน ซึ่งจากการสแกนพื้นที่พบว่า มีประมาณ 70 คน วันนี้จึงมีการวางแผนเตรียมที่ จะนำผู้ติดค้างออกจากจุดดังกล่าวให้แล้วเสร็จ
ซึ่งสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการทำงานคือ ด้วยสภาพโครงสร้างของตึกที่มีความสูงถึง 30 ชั้น ประกอบกับการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จจึงทำให้ไม่มีแบบแปลนอาคาร อีกทั้งพื้นปูนและผนังของอาคารยังมีความหนากว่า 1 เมตร ทำให้การเจาะเข้าไปเป็นไปด้วยความยากลำบาก
โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนได้มีการเร่งมือให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่แต่การใช้เครื่องมือบางอย่างไม่สามารถดำเนินการได้ และเจ้าหน้าที่ยังคงต้องรอการใช้เครื่องมือหนักเพียงอย่างเดียว สำหรับขั้นตอนการดำเนินการเจ้าหน้าที่จะต้องใช้วิธีการค่อย ๆ ยกซากชิ้นส่วนจากด้านบนของยอดอาคารที่พังถล่มลงมา ไล่มาด้านล่าง หากเจอร่างผู้เสียชีวิตก็จะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการนำออกมา ก่อนนำข้อมูลเบื้องต้น เช่นลักษณะรูปร่างและเสื้อผ้าที่สวมใส่ ไปยืนยันรายชื่อกับบริษัทและญาติ ก่อนส่งให้นิติเวชตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ โดยสิ่งเร่งด่วนที่เจ้าหน้าที่ต้องทำคือการนำเศษเหล็กและปูนออกให้ได้โดยเร็วที่สุด จนกว่าจะเจอบริเวณโถงที่พบตามภาพ ยืนยันการปฎิบัติงานไม่ได้ล่าช้า และเหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่หนักที่สุด
ส่วนการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ต่างประเทศขณะนี้พบว่าสามารถทำงานด้วยกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งเจ้าที่กู้ภัยร่วมกตัญญูก็เคยไปฝึกร่วมกับเจ้าหน้าที่ต่างชาติมาหลายประเทศ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเครื่องมือของต่างประเทศมีความทันสมัยมากกว่าของประเทศไทย โดยการทำงานของเจ้าหน้าที่ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยมากที่สุด